ผู้สมัครงาน
ออง ซาน ซูจี (ภาพ: AP)
ชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี ในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมาเมื่อ 8 พ.ย. ไม่เป็นที่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว เมื่อผลการนับคะแนนเบื้องต้นของคณะกรรมการเลือกตั้งที่ทยอยเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า พรรคของนางซูจี มีคะแนนทิ้งห่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ชนิดไม่เห็นฝุ่น และมีทีท่าว่าเอ็นแอลดีจะได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอีกด้วย
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังรอนางซูจี ซึ่งกำลังเปลี่ยนเวทีจากฝ่ายค้านที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมามานานกว่า 30 ปี ไปเป็นฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น และยังมีอุปสรรคอีกมากมายที่เธอต้องเผชิญ ไม่ว่าจะในเรื่องอำนาจการปกครอง, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศ
ชาวเมียนมานับหมื่นคนฟังคำปราศรัยของนางอองซาน ซูจี 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ (ภาพ: AFP)
อุปสรรคของซูจี
อุปสรรคแรกที่เห็นชัดที่สุดคือ ถึงพรรคเอ็นแอลดีจะชนะเลือกตั้ง แต่นางซูจีก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีด้วยตนเองได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญเมียนมาที่ร่างโดยรัฐบาลทหารเมื่อปี ค.ศ. 2008 ห้ามไม่ให้ใครก็ตามที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นชาวต่างชาติเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งสามีที่เสียชีวิตไปแล้วของนางซูจี เป็นชาวอังกฤษ ขณะที่ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอก็ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอังกฤษเช่นกัน
ขณะที่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้นางซูจีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญของกองทัพเมียนมาได้สงวนที่นั่งในรัฐสภาที่มีทั้งหมด 664 ที่นั่งให้ฝ่ายทหารถึง 25% และกำหนดด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้เสียงเห็นชอบจากสภา 75% เป็นอย่างน้อย
เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาที่นางซูจีกังวล เมื่อเธอออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า หากพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้ง เธอจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือประธานาธิบดี และเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องทั้งหมดในฐานะผู้นำพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส่วนผู้จะมารับตำแหน่งประธานาธิบดีจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจ แต่ต้องเป็นผู้ที่พร้อมปฏิบัติตามมติพรรค อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำเงาก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญเมียนมา และเชื่อว่าจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากพรรคยูเอสดีพี
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 80% ของทั้งหมด แห่ออกไปลงคะแนนเสียง (ภาพ: AFP)
กองทัพยังคงมีอิทธิพล
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวเมียนมาไม่ต้องการถูกปกครองโดยทหารอีกต่อไป แต่ทว่ารัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 ซึ่งเป็นมรดกของรัฐบาลทหารยังทำให้กองทัพมีอำนาจอยู่ในเมือง ด้วยการกำหนดให้รัฐมนตรีของกระทรวงสำคัญอย่าง กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างประเทศ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่จากกองทัพเท่านั้น
ขณะที่การปฏิรูปต่างๆ เช่น การยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ก็ไม่อาจทำได้โดยทันที เพราะข้อกำหนดอันเข้มงวดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและการเจรจาระหว่างรัฐบาลประชาชนและกองทัพในการแก้ไข เพื่อความปรองดองในฝ่ายการเมืองของเมียนมา
เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมา หัวหน้าพรรคยูเอสดีพี พ่ายยับในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. (ภาพ: AP)
ปัญหามากมายที่ยังรอการแก้ไข
เมียนมาถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปเอเชีย ทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธ์ุและความตึงเครียดทางศาสนา และปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ยังรอให้รัฐบาลใหม่ของเมียนมาแก้ไข ได้แก่
- ปัญหาคนไร้สัญชาติ หรือปัญหาชาวมุสลิมโรฮีนจา ว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมียนมาซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมาหลายชั่วอายุคน แต่พวกเขากลับถูกมองเป็นเพียงผู้อพยพผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ และไม่ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมืองของเมียนมา แทบไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานต่างๆ ทั้งสาธารณสุขและการศึกษา และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พวกเขาก็ไม่ได้ถูกระบุให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่เมื่อปี 2010 พวกเขายังสามารถไปใช้เสียงได้
- ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นชาวมุสลิมโรฮีนจา ซึ่งตั้งใจจะหลบหนีความรุนแรงจากการกีดกันในเมียนมาไปยังต่างประเทศ กระทั่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ นอกจากนี้เมียนมาจำนวนหนึ่งที่ต้องการหลบหนีความยากจนก็ตกเป็นเหยื่อผู้ค้ามนุษย์และถูกส่งไปใช้แรงงานทาสอยู่บนเรือประมงในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวโรฮีนจามากมายตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ (ภาพ: AFP)
- ปัญหาผู้พลัดถิ่น ปัจจุบันในเมียนมามีชาวโรฮีนจาประมาณ 140,000 คน อาศัยอยู่ตามค่ายผู้พลัดถิ่นต่างๆ ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา หลังจากบ้านเรือนของพวกเขาถูกทำลายในเหตุความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมเมื่อปี 2012 ซึ่งทำให้มีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะเดียวกัน การต่อสู้ระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ุตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนกว่า 10,000 คนต้องไปอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน
- ปัญหาผู้ลี้ภัย นอกจากผู้พลัดถิ่นในประเทศแล้ว ยังมีชาวเมียนมาที่หลบหนีการต่อสู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และตอนนี้ก็มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนทางเหนือของไทยกว่า 120,000 คน ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันคนเหล่านี้กลับมาตุภูมิ แต่สถานการณ์ด้านความมั่นคงทำให้กระบวนการเป็นไปด้วยความล่าช้า
- ปัญหาพิพาทกับกลุ่มชาติพันธ์ุ เมียนมาถูกปัญหากับกลุ่มชาติพันธ์ุรุมเร้านับตั้งแต่แยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1948 และจนถึงทุกวันนี้ยังมีนักรบติดอาวุธกลุ่มชาติพันธ์ุที่ยังเคลื่อนไหวอยู่อีก 12 กลุ่ม ซึ่งทางรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับ 8 กลุ่มในจำนวนนี้ไปแล้วเมื่อ 15 ต.ค. แต่กลุ่มที่แข็งแกร่งยังไม่ยอมลงนาม ขณะที่รัฐบาลก็ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาส่งผู้แทนร่วมเจรจา การมาของนางซูจีอาจช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายได้
- ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในเมียนมาซึ่งปิดประเทศและถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมานานหลายทศวรรษ และการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมียนมาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปัญหาพิพาทกับกลุ่มชาติพันธ์ุรุนแรงขึ้น
นักรบปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงเคลื่อนไหวในเมียนมา (ภาพ: AP)
จะเห็นได้ว่า นางซูจีต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ทั้งยังมีแรงกดดันจากความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในประเทศ รัฐบาลใหม่ของนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหญิงผู้นี้จะสามารถตอบโจทย์ของประชาชนได้มากน้อยเพียงไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด